Tag Archive | ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

ผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก เรื้อรัง แต่หายได้

โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง พบได้ในเด็กเล็กมากกว่าผู้ใหญ่ วันนี้ มีเกร็ดความรู้ พร้อมคำแนะนำเมื่อลูกน้อยเป็นผื่นภูมิแพ้ผิวหนังมาฝากคุณพ่อคุณแม่ค่ะ เพราะหากไม่รีบรักษาอาการตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจเรื้อรังและไม่หายขาด แต่หากดูแลอาการอย่างใกล้ชิดลูกน้อยก็จะดีขึ้นค่ะ พร้อมแล้วเราไปดูวิธีรักษาและป้องกันให้ลูกน้อยห่างไกลโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังจากนิตยสาร รักลูก กันเลยค่ะ

หากสังเกตเห็นว่าลูกมีผื่นที่ผิวหนัง มีอาการคันเป็น ๆ หาย ๆ หรือผิวหนังมีการเปลี่ยนแปลงบริเวณที่เป็นผื่น ควรรีบพาไปพบแพทย์ เพราะลูกอาจเสี่ยงเป็นผื่นภูมิแพ้ผิวหนังเรื้อรัง รวมทั้งติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัสบริเวณผื่นภูมิแพ้ผิวหนังได้

สาเหตุผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง หรือ atopic dermatitis เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังจากพันธุกรรมและสภาพแวดล้อม มักพบในเด็กเล็กมากกว่าผู้ใหญ่ร้อยละ 50 โดยมักมีอาการในขวบปีแรกร้อยละ 85 และอีกร้อยละ 20 มีอาการเรื้อรังต่อจนถึงเป็นผู้ใหญ่

ผื่นภูมิแพ้ผิวหนังแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะเฉียบพลัน กึ่งเฉียบพลัน และเรื้อรัง โดยลักษณะของผื่นและการกระจายของผื่นจำเพาะตามวัย เช่น ในเด็กเล็กแรกเกิด – 2 ปี จะพบบริเวณใบหน้า ซอกคอ ด้านนอกของแขนและขา ส่วนเด็กโตพบผื่นบริเวณแขนขา เนื่องจากเป็นโรคที่เรื้อรัง และอาการแสดงคล้ายกับผื่นในโรคผิวหนังอีกหลาย ๆ โรค

ตรวจวินิจฉัยตามความรุนแรงของโรค
การวินิจฉัยโรคคุณหมอจะเลือกการตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยพิจารณาอายุ ประวัติการเริ่มมีผื่น ระยะเวลาที่เป็นผื่น การเกิดผื่นซ้ำ และปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม ดังนี้
1. การทดสอบทางภูมิแพ้ จะเลือกตรวจในรายที่สงสัยว่ามีประวัติผื่นกำเริบหรือแย่ลง เมื่อได้รับสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ เช่น ไรฝุ่น ขนจากสัตว์เลี้ยง ต้นไม้ก่อภูมิแพ้ในอากาศ เช่น ไรฝุ่น ขนจากสัตว์เลี้ยง ต้นไม้ ต้นหญ้า ละอองเกสรดอกไม้ โดยทดสอบทางผิวหนัง (skin prick test) และตรวจด้วยการเจาะเลือด

2. การทดสอบการแพ้อาหาร ส่วนใหญ่โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังที่มีประวัติสัมพันธ์กับการแพ้อาหารมักพบในทารก หรือช่วงขวบปีแรก โดยเฉพาะการแพ้โปรตีนนมวัว อาการอาจเกิดได้หลังกินหรือสัมผัสนมวัวทันที หรือไม่เกิน 2 ชั่วโมง ทั้งอาจมีอาการร่วม เช่น อาเจียน ถ่ายเหลว มีน้ำมูกเป็น ๆ หาย ๆ หายใจดัง มีผื่นลมพิษ ซึ่งการวินิจฉัยที่ดีที่สุดคือการทดสอบการแพ้อาหารโดยการกิน (Gold standard) สังเกตอาการผิดปกติหลังกินอาหารชนิดนั้น ๆ อาจทำร่วมกับการส่งเลือดตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ

การรักษาและป้องกัน
หากได้รับการวินิจฉัยโรคแล้ว คุณหมอจะรักษา โดยมีเป้าหมายให้ลูกน้อยมีผื่นลดลง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดังนี้
1. ให้กินนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน โดยมีการวิจัยระบุว่า การให้นมแม่เพียงอย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือนแรกของชีวิตลูก ช่วยลดอุบัติการณ์ของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังได้ โดยเฉพาะในรายที่สงสัยว่าแพ้โปรตีนนมวัว เนื่องจากนมแม่มีสารอาหารต่าง ๆ ที่ช่วยสร้างสารภูมิคุ้มกันหลาย ๆ ชนิดให้ทารก

2. รักษาด้วยการดูแลความสะอาด
ควรอาบน้ำให้ลูกด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดทุกครั้ง ปัจจุบันมีโรคติดเชื้อชนิดใหม่ ๆ และพบอัตราของเชื้อดื้อยาสูงขึ้น โรครุนแรงขึ้น รวมทั้งการติดเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียบางตัวยังไม่มียารักษา เด็กเล็กระบบภูมิคุ้มกันยังไม่ดีพอ การล้างมือบ่อย ๆ และอาบน้ำด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจึงจำเป็น แต่ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด หรือครีมอาบน้ำที่อ่อนโยนสำหรับผิวแพ้ง่าย ที่สำคัญไม่ควรอาบนานเกิน 10 นาที และเลี่ยงการอาบน้ำร้อนให้ลูกน้อย

ใช้สารเพิ่มความชุ่มชื้นที่ผิวหนัง เช่น ครีม โลชั่น น้ำมัน และขี้ผึ้ง ที่ไม่มีน้ำหอมหรือสารเคมี ควรใช้หลังอาบน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และบ่อยเท่าที่ต้องการ รวมถึงการสวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ง่าย เช่น ผ้าฝ้าย การเลี่ยงจากการสัมผัสสารระคายเคืองจะช่วยทำให้อาการลูกดีขึ้นได้เร็ว

3. รักษาด้วยการใช้ยา
ใช้ยาสเตียรอยด์ จัดเป็นยาที่มีประสิทธิภาพในการรักษา และราคาถูก แต่การทายาสเตียรอยด์นาน ๆ อาจมีผลข้างเคียงจากยาได้ เช่น ผิวหนังบางลง แตกลาย หลอดเลือดขยาย ขนขึ้นบริเวณที่ทายา กดการทำงานของต่อมหมวกไต หากทาบริเวณเปลือกตาเป็นเวลานาน ๆ อาจทำให้เป็นต้อกระจกหรือเป็นต้อหินได้ ที่สำคัญยังส่งผลให้ลูกมีพัฒนาการการเจริญเติบโตช้าลงด้วย

ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เมื่อมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน จะรักษาโดยใช้ยาทาภายนอก ไม่แนะนำให้กินยาปฏิชีวนะต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน

ยาแก้แพ้กลุ่มแอนติฮีสตามีน เนื่องจากอาการคัน อาจรบกวนเวลานอน ทำให้ลูกนอนหลับไม่สนิทในช่วงกลางคืน และหากเป็นลูกวัยเรียนก็ส่งผลให้ลูกเรียนหนังสือได้ไม่เต็มที่ ซึ่งการกินยากลุ่มแอนติฮีสตามีนจะช่วยบรรเทาอาการคันที่เกิดขึ้นได้ นอกจากนี้อาจมีการรักษาด้วยการฉายแสง และให้ยากดภูมิคุ้มกันร่วมด้วย

Wet wrap ใช้รักษาในรายที่มีผื่นรุนแรงและดื้อต่อการรักษา หรือในรายที่มีการกำเริบของโรคอย่างเฉียบพลัน เน้นเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป ทำโดยทาสารให้ความชุ่มชื้นและสเตียรอยด์หลังอาบน้ำ และพันด้วยผ้านุ่มที่ชุ่มด้วยน้ำเกลือในชั้นแรก และทับด้วยผ้าแห้ง จากนั้นเปลี่ยนผ้าชั้นแรกที่ชุบด้วยน้ำเกลือทุก 2-3 ชั่วโมง ในช่วงกลางวัน ซึ่งหากพบว่ามีอาการข้างเคียงต้องรีบพาไปพบแพทย์

ผื่นภูมิแพ้ผิวหนังมีลักษณะการดำเนินโรคแบบเรื้อรัง แต่มีความรุนแรงแตกต่างกันในเด็กแต่ละคน หากดูแลผิวหนังและเลี่ยงการสัมผัสสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดผื่น ร่วมกับติดตามการรักษากับแพทย์อย่างใกล้ชิด จะช่วยให้อาการดีขึ้นเรื่อย ๆ และมีโอกาสที่โรคจะหายขาด